คณะวิทย์ฯจุฬาฯ-สกว. เปิดตัว “หอยบุษราคัม” ชนิดใหม่ของโลก นำเมือกทำเซรั่มลดริ้วรอย-เสริมความงาม
- รายละเอียด
- หมวด: Article
- เผยแพร่เมื่อ: 09 กันยายน 2558
- ฮิต: 4141
ศ.ดร.สมศักดิ์ กล่าวว่า จากการศึกษาความหลากหลายของสปีชีส์หอยทากบกในประเทศไทยเป็นเวลากว่า 30 ปี ของคณะนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประมาณการว่ามีหอยทากบกในประเทศไทยทั้งสิ้น 1,000-1,500 ชนิด และยังค้นพบหอยทากชนิดใหม่ของโลกประมาณ 100 ชนิด ซึ่งหลายชนิดมีความโดดเด่น เช่น หอยทากจิ๋วที่มีรูปร่างหลากหลายแปลกตา และหอยนักล่าที่มีลำตัวสีสดใส รวมถึงหอยต้นไม้ที่มีสีสันสวยงาม จนได้รับการขนานนามว่า “อัญมณีแห่งพงไพร” โดยล่าสุดได้ค้นพบหอยต้นไม้สวยงามชนิดใหม่ของโลก 2 ชนิด โดยชนิดแรกพบที่เกาะกระ จังหวัดนครศรีธรรมราช ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ กองทัพเรือและกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และได้รับพระราชทานชื่อหอยว่า “หอยบุษราคัม” ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Amphidromus principalis Sutcharit & Panha, 2015 (แอมฟิโดรมัส พรินซิพาลิส) จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
“จากลักษณะของเปลือกที่มีสีเหลืองแวววาว เปรียบดั่งพลอยบุษราคัมล้ำค่า เป็นทรัพยากรสำคัญและมีมูลค่าแก่การอนุรักษ์บนผืนป่าในหมู่เกาะแห่งท้องทะเลไทย หอยบุษราคัมมีเปลือกสีเหลืองแวววาว มีสีลำตัวสีขาวนวลอาศัยอยู่บนต้นไม้ในป่าดิบชื้นตามเกาะในอ่าวไทย บริโภคสาหร่ายและไลเคนบนผิวต้นไม้ ดำรงชีวิตบนต้นไม้ตลอดชีวิต มีเปลือกเวียนทางด้านซ้ายทุกตัวทั้งประชากร ศัตรูธรรมชาติ คือนกหลายชนิดและหนู มีการผลิตเมือกจากเท้าและแมนเทิลที่ทำสีขาวใส ช่วยเคลือบผิวลำตัวให้ขาวมันแวววาว มีสารที่เป็นประโยชน์ต่อการบำรุงผิวพรรณที่ละเอียดอ่อน มีศักยภาพไปสู่อุตสาหกรรมเวชสำอางได้อีกด้วย ทั้งนี้ ความหมายภาษาละตินคำว่า “principalis” มีความหมายว่า “of the princess” อันหมายถึงองค์สมเด็จพระเทพฯ ซึ่งพระองค์ทรงเป็นองค์ประธานแห่งโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ด้วย” ศ.ดร.สมศักดิ์ กล่าว
ส่วนหอยชนิดที่สองที่ค้นพบใหม่คือหอยต้นไม้ชนิด "หอยนกเหลืองแม่สอด" หรือหอยนกขมิ้นขอบวงน้ำตาล Amphidromus globonevilli Sutcharit & Panha, 2015 (แอมฟิโดรมัส โกลโบเนวิลไล) จากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก หอยชนิดนี้อาศัยเฉพาะถิ่นบนต้นไม้ตลอดชีวิต เปลือกมีสีเหลือง มีแถบสีน้ำตาลอยู่ตามรอยเวียนของเปลือกรองสุดท้ายและวงสุดท้าย ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อน
“หอยทั้งสองชนิดใหม่ที่ค้นพบนี้นับเป็นทรัพยากรชีวภาพ ที่ใช้เป็นดัชนีความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ และได้เห็นธรรมชาติของหอยอันเป็นปรากฏการณ์ ที่นำไปสู่การนำหอยมาเป็นดัชนีการอนุรักษ์ป่า การนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ และสร้างมูลค่าเพิ่มสู่อุตสาหกรรมความงามได้อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้นพบในครั้งนี้ทำให้ “หอยบุษราคัม” กลายเป็นทรัพยากรทางพันธุกรรมที่สำคัญและนำไปสู่การอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าอันจำเพาะ การค้นพบครั้งนี้ได้รับตีพิมพ์ลงในวารสารวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ “ZooKeys 2015” อันเป็นการเผยแพร่ข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยแก่สาธารณชน และสร้างความตระหนักให้แก่คนไทยให้เห็นความสำคัญและช่วยกันอนุรักษ์ดูแล ทั้งนี้ คณะวิจัยได้ร่วมกับผู้ประกอบการในการ นำเมือกหอยทากมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เซรั่มลดริ้วรอยและช่วยให้ผิวสดใสขาวเนียน เต่งกระชับ นุ่มชุ่มชื้น ด้วยส่วนผสมที่เข้มข้นมากกว่าผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดถึง 30 เท่า ซึ่งผู้สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ www.siamsnail.com และมีเป้าหมายในการสร้างฟาร์มหอยทากครบวงจรที่เลี้ยงกึ่งธรรมชาติแห่งแรกของโลกแถวสุวรรณภูมิ โดยมีแหล่งเก็บพันธุกรรมที่สระบุรี” อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว
ด้าน ศ.นพ.สุทธิพันธ์ กล่าวว่า งานวิจัยนี้นับเป็นตัวอย่างที่ดี ของการนำผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานไปต่อยอดใช้ประโยชน์ทางธุรกิจจนได้ผลิตภัณฑ์ความงามที่มีคุณภาพดีเพียงพอที่จะจัดจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศ
ที่มา : http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=1441788535