การทดสอบการแพ้เครื่องสำอางค์ หรือ ยา Patch test (medicine)
- รายละเอียด
- หมวด: Article
- เผยแพร่เมื่อ: 25 กรกฎาคม 2559
- ฮิต: 11200
พญ.ดวงกมล ทัศนพงศากุล อายุรแพทย์โรคผิวหนัง กล่าวถึง Patch Test ว่าเป็นการทดสอบผื่นแพ้ที่เกิดจากการสัมผัสสารที่เป็นสาเหตุ ซึ่งพบได้บ่อย เช่น ถุงมือยาง โลหะนิเกิล สีย้อมผม และสารที่ใช้ในการย้อมสี สารกันบูด น้ำหอม เป็นต้น เป็นการทดสอบเพื่อยืนยันการแพ้และตำแหน่งที่เกิดผื่นที่สงสัยว่าเป็นผื่นแพ้สัมผัส เช่น การแพ้โลหะนิเกิลมักมีผื่นที่ติ่งหูจากการแพ้ต่างหู การแพ้สารกันบูดที่ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์กันแดดและครีมบำรุงผิวทุกชนิด แม้กระทั่งการแพ้สารกันแดดบางชนิด หรือการแพ้น้ำหอมที่ผสมอยู่ในเครื่องสำอาง มักมีผื่นที่บริเวณผิวหน้า การแพ้อาจมีสาเหตุมาจากสารมากกว่าหนึ่งชนิด
การทำ Patch Test สามารถทดสอบสารที่ต้องสงสัยได้มากถึง 24 ชนิดพร้อมกัน ทั้งนี้เพื่อบ่งชี้สารที่เป็นสาเหตุของอาการที่แท้จริง Patch Test ทำได้ง่าย สะดวก และไม่มีอาการเจ็บปวดระหว่างที่ทำ
การเตรียมตัวก่อน ระหว่าง และหลังการทำทดสอบ Patch Test
- ควรนำผลิตภัณฑ์ที่ใช้อยู่ หรือสงสัยว่าอาจเป็นสาเหตุของอาการแพ้ เช่น ครีม ยาทา หรือเครื่องสำอางมาด้วย พร้อมบรรจุภัณฑ์และฉลาก
- ปิดแผ่นพลาสเตอร์ที่มีสารที่จะทำการทดสอบทิ้งไว้บริเวณแผ่นหลังเป็นเวลา 48 ชั่วโมง หลังจากนั้นแพทย์จะนัดพบเพื่ออ่านผลครั้งแรก และจะนัดพบครั้งที่สองเมื่อครบ 96 ชั่วโมง ในกรณีที่สงสัยสารก่อภูมิแพ้บางชนิด ต้องมาพบแพทย์เพื่อทำการอ่านผลการทดสอบในวันที่ 7 เพิ่มเติม
- ระหว่างระยะเวลาที่ทำการทดสอบ ควรระวังไม่ให้ผิวหนังเปียกน้ำหรือได้รับความชื้น โดยปกติมักปิดแผ่นพลาสเตอร์ที่บริเวณแผ่นหลัง แต่บางครั้งอาจปิดที่บริเวณแขน กรณีทดสอบสารไม่กี่ชนิด
- ขณะทำการทดสอบ ควรงดกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออกมาก เช่น การเล่นกีฬา
- ขณะทำการทดสอบ อาจมีอาการคันหรือระคายเคืองบ้างเล็กน้อยบริเวณที่ทำการทดสอบ ซึ่งเกิดจากสารเคมีที่เป็นสาเหตุทำปฏิกิริยาให้เกิดผื่นแพ้เล็กๆ บริเวณที่ทำการทดสอบ
- งดทำการทดสอบ Patch Testในสตรีมีครรภ์
- กรณีผู้ที่ใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ ควรงดยาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ก่อนการทดสอบ เพราะสเตียรอยด์มีผลกดภูมิคุ้มกัน ทำให้ผลการทดสอบคลาดเคลื่อน
- หลังทำการทดสอบเสร็จแล้ว แพทย์จะแจ้งผลให้ทราบว่าเกิดจากสารเคมีชนิดใด พบในผลิตภัณฑ์ชนิดใดบ้าง และแนะนำวิธีการปฏิบัติตัว การหลีกเลี่ยง และการป้องกันการสัมผัสสารเคมีเหล่านั้น เพื่อป้องกันการเกิดผื่นแพ้สัมผัสขึ้นมาอีก
อ้างอิง
http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail (สืบค้นวันที่27/06/59)
https://www.facebook.com/notes/674016102627811/ (สืบค้นวันที่27/06/59)
จัดทำโดย นางสาว ทิศาลักษณ์ วรสาร