กระบวนการผลิตยาสีฟัน
- รายละเอียด
- หมวด: Article
- เผยแพร่เมื่อ: 25 กรกฎาคม 2559
- ฮิต: 69213
ส่วนประกอบของยาสีฟัน
ยาสีฟันที่มีจำหน่ายตามท้องตลาดในปัจจุบันมีผลิตออกมาหลายยี่ห้อ และหลากหลายผลิตภัณฑ์ให้เลือกใช้ ส่วนผสมโดยทั่วไปจะประกอบด้วยสารทำให้เกิดฟอง สารขัดสี สารลดแรงตึงผิว สารควบคุมความเป็นกรด-ด่าง สารทำให้เกิดความเหนียวข้น สารคงความชุ่มชื้น สารถนอมยา สารให้สี สารออกฤทธิ์ และสารปรุงแต่งกลิ่นรส ซึ่งจะพบมีส่วนผสมของสิ่งเหล่านี้
1. แคลเซียม ในรูป Calcium Carbonate
2. ฟลูออไรด์ ในรูป Sodium Monofluorophosphate
3. เกลือ (Sodium chloride)
4. Sorbitol
5. Hydrated Silica
6. Sodium Lauryl Sulfate
7. Flavor
8. Cellulose Gum
9. Xanthan Gum
10. Sodium Carbonate
11. Sodium Bicarbonate
12. Benzyl Alcohol
13. Sodium Saccharin
14. Poloxamer
15. สมุนไพร เช่น ข่อย มิ้นท์
16. น้ำ
สารขัดสี ทำหน้าที่ช่วยกำจัดสี คราบฟัน คราบจุลินทรีย์ที่เกิดจากอาหาร และเครื่องดื่ม สารชนิดนี้มีคุณสมบัติเป็นสารเฉื่อยไม่ทำปฏิกิริยาใดๆ มีการกระจายตัวสม่ำเสมอ ไม่เป็นอันตรายต่อสารเคลือบฟัน และเนื้อฟัน สารในกลุ่มนี้ ได้แก่ แคลเซียมคาร์บอเนต ไดแคลเซียมฟอสเฟต ซิลิกา เป็นต้น
สารทำให้เกิดฟอง ทำหน้าที่ให้ยาสีฟันมีลักษณะเป็นโฟมขณะใช้งาน และช่วยให้ยาสีฟันกระจายตัวได้อย่างทั่วถึงในช่องปาก สารในกลุ่มนี้ ได้แก่ โซเดียมลอริลฟอสเฟต
สารควบคุมความเหนียว เป็นสารที่ทำหน้าที่ให้เนื้อยาสีฟันคงตัวตลอดเวลา ป้องกันการแยกตัวของเนื้อยาสีฟัน และน้ำออกจากกันขณะไม่ใช้งาน สารในกลุ่มนี้ ได้แก่ คาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลส
สารคงความชุ่มชื้น เป็นสารที่ทำหน้าที่ช่วยให้เนื้อยาสีฟันเป็นของเหลวข้นตลอดเวลา ไม่แห้งง่ายเมื่อโดนลม สารในกลุ่มนี้ ได้แก่ กลีเซอรอล
สารแต่งกลิ่นรส ทำหน้าที่ให้กลิ่น และรสของยาสีฟัน สารในกลุ่มนี้ ได้แก่ ซัคคาไรน์ เมนทอล เปปเปอร์มินท์ เป็นต้น
สารออกฤทธิ์ หมายถึงสารที่เติมเพื่อป้องกันฟันผุ และต้านเชื้อจุลินทรีย์
– สารป้องกันฟันผุ ได้แก่ ฟลูออไรด์ และแคลเซียม
– สารต้านเชื้อจุลินทรีย์ ได้แก่ บีสไบกวาไนด์ สารสกัดจากสมุนไพรต่างๆ เป็นต้น
ชนิดของยาสีฟัน
แบ่งตามลักษณะผลิตภัณฑ์
– ยาสีฟันเนื้อขาว
– ยาสีฟันสมุนไพร
– ยาสีฟันรักษาเหงือก
– ยาสีฟันเพื่อฟันขาว
– ยาสีฟันสำหรับเด็ก
แบ่งตาลักษณะเนื้อยาสีฟัน
– ชนิดครีม
– ชนิดเจล
– ชนิดน้ำ
– ชนิดผง
สูตรยาสีฟัน
– สูตรเกลือ มีส่วนผสมของเกลือ ซึ่งจะรู้สึกเค็มเมื่อสัมผัสกับลิ้น
– สูตรป้องกันฟันผุ ซึ่งจะมีส่วนผสมของแคลเซียม และฟลูออไรด์ เพื่อป้องกันฟันผุ
– สูตรลมหายใจสดชื่น มักผสมสมุนไพร และสารให้กลิ่นหอม เช่น มินท์
– สูตรลดการเสียวฟัน มีส่วนผสมของสารป้องกันการเสียวฟัน
– สูตรฟันขาวหรือไวเทนนิ่ง มีส่วนผสมของผงขัดฟัน และสารขจัดคราบหินปูน
– สูตรสำหรับเด็ก จะผสมแคลเซียม และฟลูออไรด์ในปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายกับเด็กโดยเฉพาะ
ยาสีฟันสมุนไพร
ถือเป็นยาสีฟันชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยม เนื่องจากมีส่วนผสมของสมุนไพร ได้แก่
1. คาร์โมมายล์ (camomile) ต้านอาการอักเสบของเหงือก
2. อิซินาเซีย (echinacea) ออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาวทำให้มีความต้านทานการติดเชื้อในช่องปาก
3. เซจ (Sege) ช่วยในการฆ่าเชื้อ และระงับกลิ่นปาก
4. เมอร์ค (myrrh) ช่วยในการสมานแผลในช่องปาก
5. รัททานี (rhatany) ช่วยในการสมานแผลในช่องปาก
6. น้ำมันเปปเปอร์มินท์ (peppermint oil) ต้านเชื้อจุลินทรีย์ มีกลิ่นหอมทำให้ลมหายใจสดชื่น
ลักษณะของยาสีฟันที่ดี
1. มีส่วนประกอบของผงขัดฟันที่ละเอียด อาจอยู่ในรูปของผงหรือครีมหรือเม็ดขัดฝันขนาดเล็กที่ไม่ทำให้รู้สึกเสียวฟัน
2. มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ ที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับฟัน
3. มีสีหรือกลิ่นให้น่าใช้ ตรงตามความต้องการของผู้ใช้
4. ไม่มีส่วนผสมของน้ำตาล
ประโยชน์ของยาสีฟัน
1. เสริมสร้างความแข็งแรงของฟัน
2. ป้องกันฟันผุ
3. ทำความสะอาดคราบหินปูน เศษอาหาร ป้องกันเชื้อจุลินทรีย์ในช่องปาก
4. ลดกลิ่นปาก ทำให้ลมหายใจหอม สดชื่น
ข้อควรระวัง
เนื่องจากมีสาร Sodium Monofluorophosphate ซึ่งเป็นอันตรายกับเด็กหากใช้เกินขนาด เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี ควรใช้ในปริมาณเมล็ดถั่วเขียว
กระทรวงอุตสาหกรรมได้ แบ่งยาสีฟันออกเป็นสองชนิดตามลักษณะแนบแน่น (CONSISTENCY) ของยาสีฟัน คือ
๑. ยาสีฟันชนิดผง (TOOTH POWDER) แบ่งออกเป็นอีกสองลักษณะ คือ ใช้สมุนไพรล้วน และประเภทสมุนไพรผสมสารเคมี มีส่วนประกอบหลักดังนี้ ข่อย ลิ้นทะเล เกลือ กานพลู สารส้ม การบูร แคลเซียมคาร์บอเนต กลีเซอรีน หัวน้ำหอม
๒. ยาสีฟันชนิดเหลวข้น (TOOTH PASTE) ยาสีฟันชนิดนี้เป็นสูตรที่นำมาจากต่างประเทศ แต่ผลิตที่ประเทศไทย ประกอบด้วยสารหลายชนิดเพื่อปรับปรุงแต่งสีและกลิ่น เช่น ตัวยาผงขัด (ABRASIVE) สารกันความชื้น (HUMECTANT) น้ำ สารช่วยยึด (BINDER) สารทำให้เกิดฟอง (DETERGENT) ยากันบูด (PRESERVATIVE) และยาบำบัดรักษา
สำหรับกระบวนการผลิตยาสีฟันนั้น เริ่มจากนำวัตถุดิบนานาชนิดมาผสมลงในเครื่องผสมขนาดเล็กเพื่อทำให้เป็นผงและเข้ากันได้สนิท แล้วจึงนำวัตถุดิบชนิดเหลวมาผสม จากนั้นจึงกวนให้เข้ากันแล้วผ่านมาสู่เครื่องผสมขนาดใหญ่ซึ่งจะกวนให้สารทั้งหมดรวมตัวแนบแน่นโดยใช้ความร้อนสูง ๗๐-๘๐ องศาเซลเซียส จนตัวยามีลักษณะข้นเหนียว ต่อจากนั้นนำตัวยาไปตรวจคุณภาพมาตรฐานเป็นครั้งแรก
ต่อมาในบางบริษัทอาจเติมวัตถุดิบบางชนิดก่อนที่จะนำตัวยาไปเข้าเครื่องผสมระบบสุญญากาศ โดยที่เครื่องจะกวนในอุณหภูมิ ๓๐-๖๐ องศาเซลเซียสประมาณหนึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมงครึ่ง หลังจากนั้นจะมีการดูดอากาศออกจนเป็นสูญญากาศ แล้วจึงหล่อด้วยน้ำเย็นเพื่อให้คลายความร้อน เมื่อเย็นดีแล้วจะต้องนำตัวยาไปตรวจคุณภาพอีกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าตัวยาจะผสมเป็นเนื้อเดียวกัน สม่ำเสมอ ไม่บูดแล้วจึงนำไปอบที่อุณหภูมิ ๔๕ องศาเซลเซียสเป็นเวลา ๗๒ ชั่วโมง จากนั้นนำตัวยาเข้าสู่ถังเก็บยาสีฟัน กรอง แล้วจึงนำสู่เครื่องบรรจุหลอดอัตโนมัติเพื่อนำออกจำหน่ายต่อไป
แหล่งอ้างอิง
1.rac chanthaburi. ยาสีฟันทำมาจากอะไร?[online]. 2010 Nov 27 [cited 2016 Jun 28]. Available from: URL:https://blog.eduzones.com/chanthaburi/37173
2.สยามเคมี.คอม สารเคมี และผลิตภัณฑ์เคมี. ยาสีฟัน[online]. [cited 2016 Jun 28]. Available from: URL:http://www.siamchemi.com