ข่าวสาร
สำเร็จแล้ว! งบวิจัย 1% ของ GDP ผลจากมาตการภาษี 300%
25 มีนาคม 2559 : กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ร่วมกันจัดงาน “CEO Innovation Forum 2016 และเปิดตัวมาตรการยกเว้นภาษี 300% สำหรับการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม”
ภายในงานมีการเสวนาพิเศษ หัวข้อ “การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม” โดย ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และนายกานต์ ตระกูลฮุน ประธานร่วมคณะทำงานร่วมประชารัฐ ด้านการยกระดับนวัตกรรมและผลิตภาพ พร้อมเปิดตัวมาตรการยกเว้นภาษี 300% ขับเคลื่อนประเทศสู่นวัตกรรม
นโยบายรัฐบาลมุ่งสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนหันมาลงทุนทำวิจัยแทนการรับจ้างผลิต โดยออกมาตรการสนับสนุนและส่งเสริมที่เหมาะกับขนาดธุรกิจ ได้แก่ มาตรการยกเว้นภาษี 300% จากเดิม 200% สำหรับค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่นวัตกรรม, มาตรการลดภาษีเงินได้สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เหลือ 10% ในระยะเวลา 2 รอบบัญชี, มาตรการยกเว้นภาษีนิติบุคคล ระยะเวลา 5 รอบบัญชีสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ในกลุ่ม New Growth Engine การจัดตั้งกองทุนส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ จำนวน 2,000 ล้านบาท การตั้งเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแบบครบวงจร ภายใต้ความร่วมมือของสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย และภาคเอกชน โครงการคูปองนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนกลุ่มธุรกิจ SME ให้สามารถเข้าถึงนวัตกรรม โดยมีงบประมาณสนับสนุนในรูปแบบคูปอง โครงการบัญชีนวัตกรรม
“เราต้องการกระตุ้นให้เอกชนหันมาลงทุนวิจัยเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจในระยะยาวไม่ใช่มองแค่ระยะสั้น เนื่องจากความได้เปรียบทางการแข่งขันราคา ค่าแรง ต้นทุนของประเทศลดลง จึงจำเป็นต้องปรับตัวด้วยการลงทุนวิจัยพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มกับสินค้าและบริการให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในเวทีโลก และส่งผลให้สิ้นปีนี้การลงทุนวิจัยพัฒนาประเทศขยับ 1% ของจีดีพี เร็วขึ้นจากที่ตั้งเป้าไว้ที่ปี 2560 จากที่ผ่านมาอยู่ที่ 0.4% ของจีดีพี” ดร.พิเชฐ กล่าว
ด้านนายวิสุทธิ์ กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนภาคเอกชน ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ด้วยมาตรการภาษี 300% ถือเป็นยาแรงที่ช่วยกระตุ้นและจูงใจให้เกิดการลงทุนด้านการวิจัยเพราะที่ผ่านมาช้ากว่าประเทศอื่น
การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายจ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็น 3 เท่าของรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริง (ยกเว้นภาษี 300%) โดยกำหนดระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์เป็นเวลา 5 ปี โดยมีผลย้อนหลัง ตั้งแต่ 1 ม.ค.2558 - 31 ธ.ค.2562 ทั้งนี้ มาตรการภาษีดังกล่าวกำหนดวงเงินการใช้สิทธิในการหักค่าใช้จ่าย 3 เท่า หากผู้ประกอบการมีรายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท จะใช้สิทธิหักรายจ่ายฯ ได้ในวงเงินสูงสุด 60% ของรายได้ แต่หากมีรายได้เกิน 50 ล้านบาท ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท หักรายจ่ายฯ ได้อีก 9% และส่วนที่เกิน 200 ล้านบาท หักรายจ่ายฯ ได้เพิ่มเติมอีก 6%
รัฐบาลมั่นใจว่ามาตรการนี้จะเอื้อประโยชน์ให้กับกิจการทุกขนาด และจะไม่ส่งผลให้กิจการที่ทำวิจัยมากอยู่แล้ว ลดค่าใช้จ่ายวิจัยเพราะถูกจำกัดวงเงินการหักค่าใช้จ่ายฯ มาตรการนี้กำหนดไว้ในระยะเริ่มต้น 5 ปี เพื่อศึกษาถึงผลกระทบว่ามาตรการยกเว้นภาษีจะเป็นไปในทิศทางที่รัฐบาลต้องการสนับสนุน และอาจพิจารณาขยายระยะเวลาในการให้สิทธิประโยชน์ได้อีกในอนาคต ซึ่ง สวทช. ได้รับมอบหมายจากกรมสรรพากรให้ทำการตรวจสอบและรับรองโครงการวิจัยที่ภาคเอกชนขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
นายกานต์ ตระกูลฮุน ประธานคณะทำงานสานพลังงานประชารัฐภาคเอกชน กล่าวว่า ทางเดียวที่จะยกระดับประเทศไทยได้คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลก ขณะที่มาตรการยกเว้นภาษี 300% น่าจะเป็นตัวเลขที่สูงสุดในโลกเมื่อเทียบกับสิงคโปร์ อเมริกา ไม่นับรวมมาตรการสนับสนุนในโครงการอื่นๆ อาทิ โครงการทาเล้นท์โมบิลิตี้ ซึ่งเป็นการปลดล็อคการเคลื่อนย้ายนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์จากภาครัฐมาช่วยภาคเอกชน ทำให้เกิดการลงทุนพัฒนางานวิจัยอย่างจริงจัง ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์และบริการมีมูลค่าสูงขึ้น ทั้งสามารถแข่งขันได้ในตลาดต่างประเทศ
ที่มา : http://eureka.bangkokbiznews.com/detail/634068