ข่าวสาร

‘ไอแทป’ปลดล็อกเอสเอ็มอี

          หินประดับจากเศษกระจกของไทยเทคโนกลาส, ต้นแบบอุปกรณ์จัดการพลังงานอัจฉริยะของรัฐบราเธอร์ และนวัตกรรมจากมะพร้าวในโรงงานอำพลฟูดส์โพรเซสซิ่ง ตัวอย่างความสำเร็จจาก 7,000 โครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก “ไอแทป” ในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา 
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย หรือ iTAP ในรูปแบบของการจัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการวิจัยและพัฒนา เข้าไปให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาถึงในโรงงาน พร้อมทั้งสนับสนุนในส่วนของค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญ 50% แต่ไม่เกิน 4 แสนบาท ซึ่งเป็นกลยุทธ์ขั้นต้นที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตของผู้ประกอบการ
เปลี่ยนปัญหาให้เป็นโอกาส
 
         จุดเริ่มต้นของบริษัท ไทยเทคโนกลาส จำกัด ที่เข้าร่วมโครงการไอแทปเกิดจากปัญหาเศษกระจกเหลือทิ้งที่ต้องขายคืนโรงหล่อกระจกมากถึง 40 ตันต่อเดือน จึงมีแนวคิดที่จะนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อแก้ปัญหาเศษของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต ไอแทปแนะนำผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) เข้าสำรวจและวิเคราะห์ปัญหาทางเทคนิคเบื้องต้น จึงเป็นที่มาของนวัตกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อมในรูปแบบแก้วพรุนหรือหินฟองน้ำ (Eco Stone) สำหรับใช้ประดับตกแต่งต้นไม้และสวนจากเศษกระจก โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตไปจากเดิม
 
         หินฟองน้ำนี้สามารถส่งกลิ่นหอมไล่ยุงได้นาน 2 เดือน ด้วยการอัดน้ำมันตะไคร้หอมลงในแก้วพรุนด้วยนาโนเทคโนโลยี ช่วยต่อยอดประโยชน์การใช้งานและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ สามารถปรับแต่งรูพรุนให้น้ำซึมหรือไม่ซึมผ่านได้ ใส่สีสันที่หลากหลาย ที่สำคัญสามารถตอบโจทย์กลุ่มคนที่อยากปลูกต้นไม้ ทำสวน แต่ไม่ชอบความยุ่งยาก จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจไปยังช่องทางจำหน่ายในโมเดิร์นเทรด อย่างโฮมโปร เพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายคือ คนเมืองที่มีกำลังซื้อ ในระยะแรกผลิตภัณฑ์ Eco Stone สามารถลดเศษกระจกไปได้ 1 ตันต่อเดือน ในอนาคตหวังว่าจะกำจัดเศษกระจกทั้งหมดในกระบวนการผลิตไม่มีเศษเหลือทิ้งเป็นซีโร่เวสต์
 
         ขณะที่ พชร ไตรรัตนวานิช ผู้จัดการบริษัท รัฐ บราเธอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากแนวโน้มและการให้ความสำคัญด้านพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น จึงได้มีแนวคิดพัฒนาระบบบริหารจัดการพลังงานทางลัด เพื่อบริหารจัดการพลังงานจากแหล่งพลังงานต่างๆ เพื่อให้เข้ากันได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้เข้าร่วมโครงการไอแทปและได้รับคำแนะนำจาก ดร.วีรกร อ่องสกุล ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย 
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำการออกแบบระบบพลังงานทางลัด (IHEM) ในรูปแบบอุปกรณ์กักเก็บพลังงานจากทุกแหล่ง ทั้งน้ำ ลม แสงแดด ลงในแบตเตอรี่ สามารถควบคุมพลังงานไฟฟ้าให้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด กระทั่งได้ต้นแบบนวัตกรรมการจัดการพลังงานกว่า 90% ขึ้นไป เมื่อเทียบกับระบบทั่วไปที่ได้พลังงานนำออกมาใช้แค่เพียง 50-60% จากพลังงานของแผงโซลาร์เซลล์ เช่น แผง 300 วัตต์ ระบบทั่วไปจะนำพลังงานมาใช้ได้แค่ 150-180 วัตต์ แต่ระบบใหม่สามารถดึงกำลังไฟมาใช้ได้มากกว่า 270 วัตต์
 
         ด้าน เกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการบริษัท อำพลฟูดส์โพรเซสซิ่ง จำกัด กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมาบริษัทได้รับการสนับสนุนจากไอแทปด้านผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถเฉพาะด้านในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างนวัตกรรม โดยใช้ทุกส่วนของมะพร้าวมาก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งผลให้บริษัทเป็นผู้นำนวัตกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญสามารถการลดต้นทุนการผลิตรวมทั้งทำให้เกิดผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมที่สร้างรายได้เพิ่มให้กับบริษัทมากกว่าผลิตภัณฑ์หลักคือ น้ำกะทิ ซึ่งไม่สามารถปรับราคาขายเพิ่มขึ้นได้เนื่องจากการแข่งขันรุนแรง ทำให้ไม่จำเป็นต้องย้ายฐานการผลิตสินค้าไปยังต่างประเทศ
 
มาตรการสานฝันเอสเอ็มอี
 
         จากผลงานที่ผ่านมา ไอแทปทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเทคโนโลยีช่วยบริหารโครงการวิจัยให้กับผู้ประกอบการ พร้อมทั้งเสาะหาผู้เชี่ยวชาญที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาและหัวข้อที่ต้องการวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรม รวมทั้งมีเงินทุนสนับสนุนการทำวิจัย ทำให้ลดความเสี่ยงในการทำโครงการวิจัยพัฒนา
 
         ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ไอแทปสนับสนุนเอสเอ็มอีเพิ่มเป็น 2 เท่าจาก 400 โครงการเป็น 800 โครงการ ในลักษณะโครงการนำร่องในปี 2559 ระยะเวลา 5 เดือน (ต.ค.2558 - ก.พ. 2559) โดยได้สำรวจความต้องการและวินิจฉัยให้คำปรึกษาเบื้องต้นแก่เอสเอ็มอีทั่วประเทศ 662 ราย จากแผนที่กำหนดไว้ 650 ราย และดำเนินกิจกรรมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึกรวมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยี 393 ราย จากแผนที่กำหนดไว้ 380 ราย
 
         แสดงให้เห็นว่าในระยะเวลาครึ่งปีที่ผ่านมา ไอแทปสามารถช่วยเหลือเอสเอ็มอีปลดล็อกข้อจำกัดทางธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้มากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ พร้อมทั้งก่อให้เกิดการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมกว่า 555.4 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนจากภาครัฐ 23% และการลงทุนจากภาคเอกชน (เอสเอ็มอี) 77% คาดว่าจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อประเทศไม่ต่ำกว่า 3,421 ล้านบาท โดยภาคเอกชนจะได้รับผลประโยชน์ 8.5 เท่าจากเงินลงทุนภายในระยะเวลา 1 ปี
 
ที่มา : http://eureka.bangkokbiznews.com/detail/634064
 
 
คุณอยู่ที่: หน้าแรก ‘ไอแทป’ปลดล็อกเอสเอ็มอี