หัวหน้างานกับการบริหารบุคคล
- รายละเอียด
- หมวด: Knowledgebase
- เผยแพร่เมื่อ: 06 กรกฎาคม 2558
- ฮิต: 3890
“ใครกันเอ่ย ที่เป็นผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลตัวจริง”
ถ้าพูดถึงทีมงาน ก็จะต้องประกอบด้วยหัวหน้าทีม หรือเรียกว่า “หัวหน้างาน”และสมาชิกในทีม ซึ่งก็คือ “ลูกน้อง” นั่นเอง
หัวหน้างานนอกจากจะบริหารงานในทีมงานทุกเรื่องด้วยความรับผิดชอบแล้ว ยังรวมถึงการบริหาร “คน” ในทีมงานด้วย นั่นหมายถึงว่า หากลูกน้องอู้งาน มาสายเป็นนิจ ลากิจเป็นประจำ ลาป่วยบ่อยๆ ทำงานไม่เสร็จตามเป้าหมาย มีปัญหาในการทำงาน ฯลฯ หัวหน้างานมีหน้าที่โดยตรงในการว่ากล่าว ตักเตือน ให้คำปรึกษา เตือนสติและให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียใหม่
ถ้าหัวหน้างานไม่บริหารจัดการลูกน้องตัวเอง แล้วใครจะมาจัดการให้?ก็เป็นเรื่องที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่ต้องจัดการ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “คน” ถ้าจะให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจัดการกับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนทุกเรื่อง ก็ต้องแต่งตั้งให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลเป็นหัวหน้าของ “หัวหน้างาน” ด้วย จะได้เรียกหัวหน้างานมาตักเตือนเป็นคนแรก ว่าในฐานะที่ท่านเป็น “หัวหน้าทีม” ทำไมไม่ดูแลความเป็นระเบียบ เรียบร้อยของ “สมาชิกในทีม” ยกตัวอย่างเช่น ลูกของท่านสอบตก เรียนไม่ดี มีปัญหาพฤติกรรมไม่เหมาะสม ท่านคิดว่าใครควรจะเป็นคนว่ากล่าวตักเตือน หรืออบรมสั่งสอน จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของครูเพียงฝ่ายเดียว โดยที่พ่อแม่ไม่ต้องมาสนใจกับลูกของตัวเอง ก็น่าจะแปลกๆ อยู่ใช่ไหม?
“หัวหน้างานคือผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลตัวจริง”นั่นเอง โดยมีฝ่ายทรัพยากรบุคคลเป็นผู้ช่วยในการให้คำแนะนำ หรือช่วยเหลือด้านอื่นๆ เช่น เป็นคนคอยแนะนำว่าวิธีการตักเตือนที่ถูกต้องควรทำอย่างไร บทลงโทษตามระเบียบของบริษัทมีอะไรบ้าง ช่วยวิเคราะห์ว่าความผิดของลูกน้อง ควรลงโทษในระดับไหน ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะช่วยเหลือเข้าไปเป็นพยานในการตักเตือน แต่บทบาทหลักในการตักเตือน ให้คุณให้โทษลูกน้องจะต้องเป็นหัวหน้างาน ไม่ใช่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลไปแย่งบทบาทมาทำเอง เสมือนหนึ่งเป็นหัวหน้างานโดยตรง
ท่านที่เป็นหัวหน้างานน่าจะเข้าใจบทบาทของตนเองชัดเจนแล้วว่า นอกจากท่านจะเป็นหัวหน้างานแล้ว ท่านก็คือผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลตัวจริง
Credit: หนังสือ หัวหน้างานกับการบริหารบุคคล : ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ สำนักพิมพ์ ส.ส.ท.