เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าผลิตภัณฑ์นั้น...ปลอดภัย?
- รายละเอียด
- หมวด: Knowledgebase
- เผยแพร่เมื่อ: 27 กรกฎาคม 2558
- ฮิต: 5163
คงต้องยอมรับว่าในปัจจุบัน ผู้คนใส่ใจเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น ทำให้ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร, สมุนไพร, และเครื่องสำอาง สังเกตได้จากการขยายตัวของตลาดที่เพิ่มขึ้น บริษัทห้างร้านต่างๆก็เริ่มปรับตัวหันมาสนใจธุรกิจด้านนี้มากขึ้น ทำให้สินค้าประเภทนี้แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วและเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น แต่ด้วยความเข้าถึงง่ายนี้ เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในท้องตลาด ผลิตภัณฑ์ไหนปลอดภัยและให้ผลลัพธ์ตามที่เราต้องการได้จริงๆ
ด้วยเหตุนี้ บริษัทฯ ของเรา ซึ่งเป็นบริษัทรับวิจัยและพัฒนา และรับผลิตอาหารเสริม จึงคำนึงถึงคุณภาพและประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์เป็นสำคัญ หลังจากที่ทำการคิดค้น วิจัยและพัฒนาสูตรแล้ว ก่อนที่จะนำผลิตภัณฑ์ส่งไปถึงมือลูกค้า จำเป็นต้องทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่า สินค้าที่ออกไปจาก CDIP นั้น เป็นสินค้าที่มีทั้งคุณภาพและความปลอดภัย
โดยการทดสอบทั่วไปนั้น นิยมทำการทดสอบกัน 5 ด้าน ดังนี้
1. การทดสอบทางเคมีและกายภาพ (Physicochemical test)
2. การทดสอบทางจุลชีววิทยา (Microbiological test)
3. การทดสอบความพึงพอใจในการใช้ (Psychophysics test)
4. การทดสอบประสิทธิภาพ (Efficacy test)
5. การทดสอบความเป็นพิษ (Toxicological test)
การทดสอบทางเคมีและกายภาพ (Physicochemical test)
เป็นการทดสอบพื้นฐานของผลิตภัณฑ์ โดยจะมีการทดสอบด้วยวิธีใดนั้นขึ้นกับลักษณะ ชนิด และประเภทของผลิตภัณฑ์ เป็นการตรวจสอบคุณภาพ ปริมาณสารสำคัญ ความคงตัว และความสม่ำเสมอของคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ การควบคุมคุณภาพนี้จะมีมาตรฐานเป็นข้อกำหนดที่ชัดเจน การทดสอบในประเภทนี้ ได้แก่ การทดสอบความคงตัวของผลิตภัณฑ์ (Stability test), การวัดค่าความเป็นกรด-ด่าง, การทดสอบการกระจายตัว, การทดสอบความกร่อน, การวัดค่าความชื้น ความหนืด และสี เป็นต้น
การทดสอบทางจุลชีววิทยา (Microbiological test)
เป็นการทดสอบหาปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ที่อาจปนเปื้อนอยู่ในผลิตภัณฑ์ โดยทำการตรวจเชื้อก่อโรค อ้างอิงตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
การทดสอบความพึงพอใจในการใช้ (Phsychophysics test)
การทดสอบประเภทนี้ เป็นการทดสอบความพึงพอใจที่นิยมใช้กับการทดสอบเครื่องสำอาง โดยวัดจากความรู้สึกของผู้ใช้ที่มีต่อผลิตภัณฑ์ ซึ่งผลที่ได้จากการทดสอบอาจเป็นผลที่เห็นได้จริงและชัดเจน เช่น ทำให้รู้สึกอ่อนเยาว์ของครีมช่วยลดรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า หรือเป็นผลที่เกิดจากจิตใจ เช่น ใช้ผลิตภัณฑ์แล้วทำให้รู้สึกว่าผิวเนียนนุ่มขึ้น เป็นต้น
การทดสอบประสิทธิภาพ (Efficacy test)
เป็นการทดสอบความสามารถของผลิตภัณฑ์ว่าสามารถก่อให้เกิดประสิทธิผลตามที่กล่าวอ้างได้จริงหรือไม่ และผลิตภัณฑ์นั้นมีประสิทธิภาพตามที่ต้องการหรือไม่ โดยการทดสอบประสิทธิภาพสามารถทำได้ทั้งการทดสอบทางเคมี เช่น การทำให้ผิวขาวขึ้นจริงหรือไม่ โดยทำการทดสอบการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส, การทดสอบฤทธิ์การเป็น Antioxidantเป็นต้น และการทดสอบประสิทธิภาพโดยใช้คนเป็นผู้ทดสอบ เช่น การทดสอบฤทธิ์การระบาย โดยมีการติดตามผลในอาสาสมัครหลังการใช้ผลิตภัณฑ์,การตรวจวัดด้วยเครื่องมือในอาสาสมัครหลังใช้ผลิตภัณฑ์ครีมบำรุงผิว เป็นต้น การทดสอบประเภทนี้ทำให้ทราบว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆมีคุณสมบัติตามที่ต้องการหรือไม่
การทดสอบความเป็นพิษ (Toxicological test)
เป็นการทดสอบพิษหรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากการใช้ผลิตภัณฑ์ เช่น การทดสอบ photo toxicity และ irritation เป็นต้น